การฝังเข็มคืออะไร และรักษาโรคได้อย่างไร
April 17, 2022
การฝังเข็มเป็นเวชกรรมที่มีมานานเป็นเวลาหลายพันปีในประเทศจีน ปัจจุบันการฝังเข็มได้แพร่หลาย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้ ให้ความสนใจและได้เป็นแกนนำในการเชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประชุมในปี คศ. 1979 ที่นครปักกิ่ง และได้ร่าง “รายชื่ออาการหรือโรคที่อาจพิจารณาให้การฝังเข็มเป็นทางเลือกในการรักษาจำนวน 43 ประเภท”
สำหรับประเทศไทย ประชาชนก็ได้ให้ความสนใจในการศึกษาโรคด้วยการฝังเข็ม เพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็วเช่นกัน
การฝังเข็มคืออะไร
การฝังเข็มคือ การแทงเข็มลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกายโดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีน โดยเข็มที่ใช้จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่าเข็มฉีดยา จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย และเป็นเข็มปลอดเชื้อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ป่วยจึงปลอดภัยจากการติดเชื้อ
การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร
ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า การฝังเข็มทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีในร่างกายเพิ่มขึ้น มากกว่า 35 ชนิด แล้วแต่ตำแหน่งที่ใช้ฝังเข็ม ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายในแง่ช่วยระงับอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเฉพาะที่ ปรับระดับไขมันและสารเคมีอื่น ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสภาพ สมดุล รวมทั้งเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง
กลุ่มอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดคอ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดไมเกรน โดยร่วมกับการทำจิต บำบัด เลิกยาเสพติด อดบุหรี่ ลดความอ้วน โดยร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด อัมพาต อัมพฤกษ์ โดยร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ โรคภูมิแพ้ หืดหอบ และผื่นคันตามร่างกาย อาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดประจำเดือน โรคอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
การฝังเข็มเหมาะสมกับใคร
1. ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับการรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งเป็นการเพิ่มสารเคมีจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย
2. ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาหลาย ๆ ชนิด
3. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำปฏิกิริยาต่อกันของยา
4. ผู้ป่วยที่มีปัญหาหยุดยาที่ใช้รักษาโรคไม่ได้ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาระบาย เป็นต้น
5. ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาแบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนตะวันตกกับการฝังเข็ม
6. ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพโดยการปรับสมดุลภายในร่างกาย
ข้อห้ามในการฝังเข็มมีอะไรบ้าง
โรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด
โรคที่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างแน่นอน
โรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการรักษา)
โรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน
ตั้งครรภ์
ต้องเตรียมตัวก่อนมารับการฝังเข็มอย่างไร
1. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย
2. ไม่หิวหรืออิ่มเกินไป
3. สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น สามารถรูดขึ้นเหนือศอกและเหนือเข่าได้
4. ไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการฝังเข็ม
5. ขณะฝังเข็มถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการฝังเข็มนานเท่าไร
การฝังเข็มแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ต้องมาฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 – 3 ครั้ง และต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้วแต่โรคที่เป็นตามการพิจารณาของแพทย์
References